ใครสนิทกับ “ลำเพลิน วงศกร” จะรู้ว่า หมอลำโอปป้าคนนี้อินความเป็นอีสานดั้งเดิมมาก เขายังอยากเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ที่เล่าเรื่องความเป็นอีสานผ่านบทเพลงด้วย มีจังหวะเมื่อไหร่เผลอเป็นไม่ได้ต้องใส่กลิ่นอายเหล่านี้ไปในบทเพลงด้วย แฟนเพลงชาวอีสานคงรู้จักเพลงหมอลำดีอยู่แล้ว เพลงแบบนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สืบทอดมายาวนาน ในแต่ละภูมิภาคของประเทศ มีการละเล่นและร้องรำที่สร้างความบันเทิงในชุมชน ท่วงทำนองเหล่านั้นถูกส่งต่อมาโดยการจดจำ เริ่มจากครูเพลงถึงลูกศิษย์ ไปสู่คนฟังในวงกว้าง
อาชีพนักร้องดูผิวเผินเหมือนจะเป็นผู้สร้างความบันเทิง แท้จริงแล้วคุณสมบัติที่ศิลปินหลายคนมี คือมีวิธีการเล่าเรื่องต่างๆ ให้โดนใจคน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องความรักอย่างที่เราได้ยินบ่อยๆ เรื่องที่เป็นกระแสสังคมในแต่ละยุคสมัยก็สามารถนำมาเล่าผ่านบทเพลง เช่นเดียวกับความเป็นอีสานที่เราสามารถอนุรักษ์ได้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย “ลำเพลิน” ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีส่วนร่วมกับการแต่งเพลง เขามักจะนำท่วงทำนองของเพลงเก่าๆที่เคยได้ยินในวันวานมาใส่ บางครั้งก็นำภาษาหรือคำพูดที่ใช้ติดปากในพื้นที่มาสอดแทรกในเนื้อเพลง และนี่เป็นวิธีการเล่าเรื่องของลำเพลิน เขาไม่ได้เอาวัฒนธรรมอีสานหรือความเป็นท้องถิ่นมาพูดถึงตรงๆ แต่นำแค่บางส่วนมาใช้เป็นหนึ่งในการทำเพลง เขาเชื่อว่าถ้าอยากทำเพลงให้คนรู้สึกตามได้ ตัวเพลงต้องมีส่วนผสมที่กลมกล่อมด้วย ทุกครั้งที่เราฟังเพลงของลำเพลิน จึงไม่ใช่แค่เสียง แต่มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และชีวิตผู้คนแฝงอยู่ในนั้นด้วย
“ลำเพลิน” เล่าว่า “วัฒนธรรมอีสานไม่ได้มีแค่หมอลำ สิ่งที่ผมอยากเห็นคือ การอนุรักษ์ประเพณีและจารีตบางอย่างที่ปัจจุบันเริ่มหายไป แล้วนำมาปรับใช้ให้เข้ากับยุคสมัย ให้ยังคงความเป็นอีสานที่ควรรักษาไว้ ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องขนบธรรมเนียมที่เราต้องทำ อย่างเด็กก็ต้องเคารพผู้ใหญ่ ทุกวันนี้สังคมเปลี่ยนไปเยอะมากครับ กลายเป็นสังคมโซเชียลมีเดีย หันหน้าเข้าโทรศัพท์อย่างเดียว ความใกล้ชิดมันเริ่มหายไป การคุยผ่านโซเชียลมีเดียก็ไม่เหมือนการคุยซึ่งหน้า ผมรู้สึกว่าความเคารพต่อกันมันเริ่มเสื่อมถอยลง สิ่งที่ขาดหายไปคือคำว่า “ครอบครัว” เราไม่ค่อยได้พูดกันเท่าไหร่ด้วยครับ ส่วนเรื่องวัฒนธรรมทางดนตรี ถ้าเป็นไปได้ผมอยากให้หมู่บ้านหนึ่งมีการอนุรักษ์การละเล่นพื้นบ้านของตัวเองไว้ มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ทุกวันนี้ไม่ค่อยเห็นมีแล้วครับ มีแต่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ การใช้ชีวิตก็เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย คงต้องฝากความหวังไว้กับมหาวิทยาลัยด้วยครับ และในส่วนของจังหวะหมอลำก็มีเอกลักษณ์ของมันอยู่แล้วครับ บวกกับเสียงของเครื่องดนตรี ทำให้เรารู้เลยว่านี่คือ “จังหวะอีสาน” ครับ”