คุณนงลักษณ์ งามโรจน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 พร้อมด้วย ผู้ประกาศข่าว อ๊อฟ อัครพล ทองธราดล จากรายการ “เกาะติดข่าว” ส่งต่อความห่วงใยให้ทีมแพทย์ ส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องอุลตร้าซาวด์ สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก, ชุด PAPR ให้บุคลากรทางการแพทย์สวมเวลาตรวจผู้ป่วยวิกฤติ ซึ่งช่วยระบายอากาศได้ดี, ชุด PPE, หน้ากากอนามัย N95 และนอกจากนี้ยังมอบ “ซุปเปอร์ไฟต์” เครื่องดื่มสมุนไพรธรรมชาติสกัด 8 ชนิด ” อร่อย ดื่มง่าย เติมความสดชื่น พร้อมบำรุงร่างกาย” และ ผลิตภัณฑ์นมไทยเดนมาร์ค นมโคแท้100% ไม่ผสมนมผง ให้กับ 2 โรงพยาบาล อาทิ ศิริราชมูลนิธิ โรงพยาบาลศิริราช โดยมี รศ.ดร.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒน์อักษร รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช เป็นผู้รับมอบ และ โรงพยาบาลบุษราคัม โดยมีนายแพทย์กิติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข รับมอบ เพื่อนำไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเร่งด่วน ไปเมื่อวันก่อน
คุณนงลักษณ์ งามโรจน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 เปิดเผยว่า ขอขอบคุณน้ำใจคนไทยทั้งประเทศที่ร่วมบริจาคทุนทรัพย์เข้ามาในโครงการนี้ ในฐานะสื่อมวลชนยืนยันว่าทีมข่าวช่อง 8 ทุกคนจะทุ่มเททำหน้าที่ในบทบาทสื่อมวลชน นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุดในสถาน การณ์วิกฤติโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนคนไทยก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปได้อย่างปลอดภัย อยากให้ประชาชนทุกคนดูข้อมูลข่าวสารแล้วใช้วิจารณญาณด้วย ในข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง และข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง อันนี้ต้องเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องระวัง เราในฐานะช่อง 8 จะขยายความเข้าใจ พยายามสื่อสารตอกย้ำให้กับประชาชน และสร้างความรับรู้ในวงกว้างให้มากที่สุด ให้ประชาชนคนไทยปลอดภัย ขอกราบขอบพระคุณคนไทยทั้งประเทศ ที่แบ่งปันน้ำใจมาช่วยเหลือและดูแลกันในภาวะคับขันแบบนี้จริงๆ ค่ะ
รศ. ดร. นพ. ยุงยุทธ ศิริวัฒนอักษร รองผู้อำนวยโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลศิริราชมีผู้ป่วยโควิดเต็มจำนวนที่รองรับ ทั้งโรงพยาบาลและโฮสพิเทล รวม 600 เตียง กำลังขยายหอผู้ป่วยเพิ่ม นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยโควิดที่มาด้วยภาวะต้องคลอดลูกจำนวนมาก ซึ่งเครื่องอัลตราซาวด์จะช่วยให้การทำงานของแพทย์แม่นยำในการวินิจฉัยและรักษา สิ่งของที่ใช้ตอนนี้ เราขาดแคลนชุด PAPR ที่นำมาบริจาควันนี้ เป็นอุปกรณ์สำคัญมาก ทั้งแพทย์ พยาบาลที่เข้าดูคนไข้ผู้ป่วยโควิด ในไอซียูหรือห้องแยกโรค จำเป็น ถ้ามีชุดนี้ การทำงานจะสะดวกสบายมากขึ้น คนไข้จะได้รับการดูแลที่ไม่ต้องเร่งรีบ เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล ไม่ได้เสียเหงื่อมาก ไม่ร้อนมาก ไม่เกิดภาวะที่ออกมาแล้วเป็นลม อย่างที่เราทราบกัน ตอนนี้ก็พยายามที่จะงดการให้บริการในคนไข้ที่ไม่เร่งด่วน เพราะเราต้องการทรัพยากรบุคคล ไม่ว่าแพทย์ พยาบาล หอผู้ป่วย มาจัดสรรรองรับผู้ป่วยโควิด ซึ่งตอนนี้ยังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศ เรื่องนี้เราคนเดียวช่วยไม่ได้ ต้องร่วมมือช่วยกันนะครับ
นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม เปิดเผยว่า โรงพยาบาลบุษราคัมดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ระดับสีเขียวอาการเล็กน้อย จนถึงสีแดงอาการหนัก//มีกลุ่มคนไข้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ปัจจุบันมีผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ในโรงพยาบาล 3,700 คน เต็มอัตรารองรับ แต่มีบุคลากรดูแลผู้ป่วยเพียง 300 กว่าคน ถือเป็นภาระหน้าที่ค่อนข้างหนัก ตอนนี้เราใช้เจ้าหน้าที่ดูแลประมาณ 300 คน แบ่งเป็น 3 ผลัด 100 กว่าคน เจ้าหน้าที่ส่วนนี้ ถ้าเทียบว่าต้องดูแลคนไข้ 3,700 คน ถือว่าใช้กำลังมาก ถึงแม้เราจะใช้เทคโนโลยี ใช้นวัตกรรมระบบ Telemedicine ต่างๆ เข้ามาช่วย ลดขั้นตอนหรืออะไรก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าเป็นภาระที่หนักมากของเจ้าหน้าที่