เทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศที่ถ่ายทำในประเทศไทย ครั้งที่ 7 โดยกรมการท่องเที่ยว

       เทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศที่ถ่ายทำในประเทศไทย ครั้งที่ 7 โดยกรมการท่องเที่ยว ฉลองความสำเร็จของเมืองไทยในการเป็นโลเคชั่นถ่ายทำที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก  

พร้อมจัดงานประกาศรางวัลผู้ชนะการแข่งขันภาพยนตร์สั้นอย่างยิ่งใหญ่

 

กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศที่ถ่ายทำในประเทศไทย ครั้งที่ 7 หรือ Thailand International Film Destination Festival 2019 : TIFDF2019  พร้อมจัดงานประกาศรางวัลผู้ชนะการแข่งขันถ่ายทำภาพยนตร์สั้น ซึ่งถ่ายทอดความสวยงานบนแผ่นฟิล์มผ่านจังหวัดเมืองรองทั่วประเทศไทย ด้วยผลงานของทีมนักศึกษาภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างชาติที่ได้ร่วมประชันฝีมือกัน โดยภายในงานมีเหล่าศิลปินดารา และผู้กำกับภาพยนตร์ระดับโลกเข้าร่วมงานมากมาย อาทิ เซ็ธ กรีน (Seth Green) นักแสดงนำและผู้กำกับจากภาพยนตร์เรื่อง Changland ร่วมด้วยทีมนักแสดงและผู้สร้างภาพยนตร์ แคลร์ แกรนด์ (Clare Grant), คอรี่ มูซ่า (Corey Moosa) และ ฌอห์น เอเกอร์ส (Sean Akers) และพบกับ ดารา    นักแสดง นักร้องชั้นนำของเมืองไทย มาริโอ้ เมาเร่อ, ปราง กัญญ์ณรัณ, ลิเดีย ศรัณย์รัชต์ และปนัดดา เรืองวุฒิ ในวันอังคารที่ 2 เมษายน 2562 ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 สยามสแควร์วัน

 

 

 

 

 

นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า งานเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศที่ถ่ายทำในประเทศไทย หรือ Thailand International Film Destination Festival 2019 : TIFDF2019 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 โดยจัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2556     มีเป้าหมายสำคัญ คือ การเผยแพร่ศักยภาพอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศไทย และความพร้อมด้านการให้บริการถ่ายทำภาพยนตร์ในเมืองไทย เพื่อดึงดูดให้กลุ่มคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์สนใจมาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย พร้อมกับประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ รวมถึงประเพณี วัฒนธรรม ให้ชาวต่างชาติได้รู้จัก และอยากมาสัมผัส อยากมาเยือนประเทศไทย

และในครั้งนี้งานเทศกาลภาพยนตร์ฯ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด BEYOND DESTINATION THAILAND – The Integration of Technology & Culture ที่เหนือกว่าความเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ผลิตภาพยนตร์ทั่วโลก ด้วยความโดดเด่น  ความสวยงามของสถาปัตยกรรม ธรรมชาติที่สมบูรณ์ วัฒนธรรมและประเพณีอันล้ำค่า ผสมผสานกับเทคโนโลยีทันสมัยและอัตลักษณ์ความเป็นไทย ที่สามารถหลอมรวมอย่างลงตัวกับเทคโนโลยีระดับโลกจนเกิดความประทับใจ  ทำให้เมืองไทยเหนือกว่า      การเป็นจุดหมายปลายทางของการถ่ายทำที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเพื่อเป็นการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นเบอร์หนึ่งของโลเคชั่นยอดนิยมของกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ จึงได้จัดกิจกรรมต่างๆ คือ การแข่งขันการถ่ายทำภาพยนตร์สั้น          โดยมีโจทย์ให้เหล่านักศึกษาด้านภาพยนตร์จากนานาประเทศและนักศึกษาไทย ใช้โลเคชั่นในจังหวัดเมืองรองของไทยตามนโยบายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งกิจกรรมนี้มีส่วนสำคัญในการสร้างและพัฒนาเครือข่ายบุคลากรในวงการภาพยนตร์รุ่นใหม่ทั่วโลก   อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมการเข้ามาของกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ที่ไม่ใช่เพียงการนำรายได้เข้าสู่ประเทศโดยตรง แต่ยังหมายถึงการที่ประเทศไทยจะได้สื่อสารและประชาสัมพันธ์ประเทศสู่สายตามชาวโลก
โดยการแข่งขันภาพยนตร์สั้นในปีนี้ ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจาก ผู้สมัครเข้าร่วมการแข่งขันมากถึง 420 ทีม จาก 77 ประเทศทั่วโลก ทั้งจากสหรัฐอเมริกา โปรตุเกส รัสเซีย บราซิล อาร์เจนตินา เนปาล จีน กัมพูชา เป็นต้น และผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาพยนตร์ จนได้ผู้เข้าแข่งขันนักศึกษาต่างชาติผ่านเข้ารอบสุดท้าย จำนวน 20 ทีม และอีก 15 ทีมไทย จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากผู้กำกับภาพยนตร์ไทยชื่อดัง โดยทั้ง 35 ทีมจะถ่ายทำภาพยนตร์สั้นภายใต้หัวข้อ “Living Eco Living Thainess” หรือ “รักษ์ไทย รักษ์โลก” โดยนำเสนอผ่านความสวยงามของจังหวัดเมืองรองทั่วประเทศไทย เพื่อให้จังหวัดเมืองรองได้เผยแพร่ความโดดเด่นของสถานที่ท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม และอัตลักษณ์อื่นๆ สู่สายตาชาวโลก ด้วยผลงานภาพยนตร์สั้นของผู้เข้าแข่งขัน ภายใต้งานเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศที่ถ่ายทำในประเทศไทยประจำครั้งนี้

 

 

 

 

นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมพิเศษคืนความสุขให้คอภาพยนตร์ ด้วยการจัดฉายภาพยนตร์ต่างประเทศที่เคยถ่ายทำในประเทศไทย (Thailand on Screen) กับภาพยนตร์ 5 เรื่อง 5 รส ได้แก่ Detective Chinatown, Bounty Hunters,  Hangover Part 2, Changeland และ Gold   โดยที่เปิดให้เข้าชมฟรี    เมื่อวันที่ 27-31 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ โรงภาพยนตร์พารากอนซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าสยาม พารากอน ซึ่งทุกเรื่องล้วนเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในประเทศไทยทั้งสิ้น และหลายเรื่องทำให้เกิดกระแสตามรอยภาพยนตร์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยือนประเทศไทย ซึ่งได้รับความสนใจจากพี่น้องคนไทยเข้าร่วมชมภาพยนตร์เต็มทุกรอบ  “การผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นเบอร์หนึ่งของโลเคชั่นยอดนิยมของการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศนั้น    นอกจากจะเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยการนำเม็ดเงินมหาศาลเข้าประเทศแล้ว ยังเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพ   ในการเผยแพร่ภาพสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการฉายภาพยนตร์ นับเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยที่ส่งต่อสู่สายตาชาวโลกอีกด้วย” นายอนันต์ กล่าวปิดท้าย