ช่วงนี้ กระแสข่าวภาพยนตร์ไทยสร้างชื่อเสียงต่างประเทศมีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เรื่อง ร่างทรง ภาพยนตร์ร่วมทุนระหว่าง GDH ของผู้กำกับโต้ง “บรรจง ปิสัญธนะกูล” กับทางเกาหลี ที่เข้าฉายในเกาหลีใต้ เปิดตัวแรง ทำรายได้ไปถึง 1.1 ล้านเหรียญ หรือ 36 ล้านบาท ในวันแรกที่เข้าฉาย ขึ้นเป็นอันดับ 1 บนตารางหนังทำเงินเกาหลีใต้ และยังขึ้นแซงหน้าหนังแอคชั่นฮีโร่ฟอร์มยักษ์ Black Widow อีกด้วย
ตามมาด้วยความยินดีล่าสุด กับ‘อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล’ หรือ ‘เจ้ย’ ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย สร้างชื่อใน ‘เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์’ อีกครั้งเมื่อ Memoria ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาได้รางวัล ‘The Jury Prize’ หรือรางวัลขวัญใจกรรมการ จาก Cannes Film Festival ครั้งที่ 74 ที่เพิ่งประกาศไปสด ๆ ร้อนๆ วันก่อน
นางสาวพิมพ์ลภัทร ไชยวิริยะโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันตนา โพสต์ โปรดักชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้สร้างสรรค์งานด้านโพสต์โปรดักชั่นให้แก่ภาพยนตร์เรื่องร่างทรง กล่าวแสดงความยินดีว่า “กันตนาเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จงานโพสต์โปรดักชั่นในภาพยนตร์หลายๆ เรื่องของ GDH ตลอดมา ดีใจมากที่ล่าสุดภาพยนตร์เรื่องร่างทรงไปสร้างชื่อเสียงในเกาหลีใต้ได้อย่างน่าภาคภูมิใจ เพราะนอกจากจะทำรายได้เปิดตัวอันดับ 1 แล้ว ล่าสุดยังคว้า รางวัล Best of Bucheon จากสาขาหลัก Bucheon Choice เทศกาลภาพยนตร์ 25th Bucheon International Fantastic Film Festival (BIFAN) มาอีกด้วย เป็นที่น่ายินดีว่า ปัจจุบันภาพยนตร์ไทยได้รับการยอมรับทั้งในระดับเอเชียและระดับโลก ทั้งนี้ด้วย Production Value ที่สูงขึ้น ภาพยนตร์หลายเรื่องที่ฉายใน Netflix และ Disney+ ก็เข้ามาใช้บริการกันตนา โพสต์ โปรดักชั่น อย่างต่อเนื่อง เราภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับภาพยนตร์ไทยก้าวไกลสู่สากล”
บริษัท กันตนา ซาวด์ สตูดิโอ ผู้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์งานเสียงให้กับภาพยนตร์เรื่อง Memoria นายไตรเทพ วงศ์ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า “Memoria คืออีกหนึ่งผลงานที่กันตนา ซาวด์ สตูดิโอ ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง โดยมอบหมายให้ ริชาร์ด ฮอร์ค เทคนิคคอล ไดเรคเตอร์ ของเราเป็นผู้สร้างสรรค์ให้ เสียงในภาพยนตร์ของคุณเจ้ยจะมีความลึกซึ้งมาก Element แต่ละอย่างจะละเอียดอ่อน เนื่องด้วยภาพยนตร์ของคุณเจ้ยจะมีความพิเศษเฉพาะตัว สร้างความรู้สึกเพื่อให้ผู้ชมได้รู้สึกร่วมในแบบที่ต้องการ และยังเปิดช่องให้ผู้ชมได้จินตนาการตาม งานจึงละเอียดมากขึ้นอีก 2-3 เท่า ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรทั้งเวลาในการทำงาน สกิลในการควบคุมเครื่องมือ ร่วมกับครีเอทีฟในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นและลงตัวที่สุดกับภาพยนตร์ เรียกได้ว่าเป็นงานคราฟงานหนึ่งเลยทีเดียว”