เปิดใจไลน์แมนหูหนวกพ่อลูกอ่อน ผู้ทิ้งความกลัวสู่อาชีพไรเดอร์ที่ทำได้อย่างเท่าเทียม

วันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น “วันคนพิการสากล” เพื่อให้คนทั่วโลก ได้ตระหนักและยอมรับคนพิการ รวมถึงสนับสนุนศักยภาพและเปิดโอกาสให้คนพิการสามารถเข้าถึงทรัพยากร และประกอบอาชีพเพื่อการดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพาตัวเองได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป  และวันสำคัญที่ใกล้กัน คือวันพ่อแห่งชาติ บทความนี้เราจึงหยิบยกเรื่องราวของไรเดอร์พ่อลูกอ่อนที่พิการทางการได้ยิน ผู้เอาชนะความ “กลัว” ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ด้วยความ “กล้า” ในการสร้างโอกาสให้ตัวเอง

คุณฐิตินันท์ ตามะณี ไรเดอร์หนุ่ม วัย 28 ปี ได้เดินทางมาพูดคุยกับเราเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและความต้องการให้เสียงของเขาสร้างการเปลี่ยนแปลงและโอกาสให้กับเพื่อนๆ คนพิการ  ตลอดการสนทนาทำให้เราได้รู้ว่าเสื้อ แจ็คเก็ตสีเขียว ไม่สามารถปิดบังหัวใจที่แน่วแน่ของเขาได้เลย และในฐานะของคุณพ่อ สิ่งที่เขาตั้งใจในตอนนี้คือการสร้างบ้านอันอบอุ่นให้ครอบครัวที่มีภรรยาและลูก 2 คน ซึ่งลูกคนที่สองกำลังจะลืมตามาดูโลกในอีกไม่นานนี้

“ความกลัว” อุปสรรคด่านแรกของคนพิการ

ถึงเเม้สังคมจะเปิดกว้างขึ้น แต่ในความเป็นจริงก็ค่อนข้างยากสำหรับคนพิการที่จะสมัครทำงานตามบริษัทต่างๆ ทั้งความกลัวจากตัวคนพิการเองที่ไม่กล้าเริ่มไปสมัคร ไม่กล้าเข้าไปถาม กลัวว่าสังคมจะไม่ให้โอกาส และอีกปัจจัยหนึ่ง คือ บริษัทเองก็กลัวในการจ้างงานคนพิการเช่นกัน ซึ่งหากเราสามารถแก้ไขข้อจำกัดนี้ได้ มันจะช่วยสร้างโอกาส ให้คนพิการได้อีกมากมาย ซึ่งการมาเป็นไรเดอร์ทำให้รู้ว่าบางอาชีพเราเองก็สามารถได้รับความเท่าเทียมทางโอกาส และเลือกเส้นทางในการพึ่งพาตัวเองได้

ถ้าพูดถึงอาชีพขับรถส่งอาหาร เรายอมรับว่าตอนแรกรู้สึกกลัวเหมือนกัน เพราะเวลารับออเดอร์จากลูกค้า  เราสามารถ สื่อสารได้ผ่านข้อความช่องทางเดียวเท่านั้น บางทีจะต้องใช้เวลาในการสื่อสารนานกว่าปกติ เพราะฉะนั้น จะใช้วิธีส่งข้อความไปแจ้งก่อนว่า ‘ผมเป็นคนหูหนวก’ เพื่อให้ลูกค้าคอยตอบข้อความ ซึ่งเราก็ขอบคุณลูกค้าหลายคน ที่เข้าใจและคอยดูโทรศัพท์ตลอดเวลา ว่าเราถึงไหน หรืออยู่ที่ไหนแล้ว

สังคมต้องตระหนักว่าผู้พิการคือคนที่มีศักยภาพทำงานได้

เรามั่นใจว่าเราสามารถทำงานได้ จึงเป็นเหตุผลที่สมัครเข้ามาขับไลน์แมน ซึ่งหลังจากที่ได้ยื่นประวัติเพื่อสมัคร เข้าไปและผ่านการตรวจสอบจากระบบว่าสามารถขับรถส่งอาหารได้ ทำให้เราดีใจและมั่นใจมากขึ้น ขณะเดียวกันเราเอง ก็เชื่อว่า คนพิการทุกคนก็ทำงานได้เหมือนกัน ปัจจุบันนี้มีช่องทางหรือเครื่องมืออีกมากมายที่จะสามารถอำนวย ความสะดวกให้ทุกคนได้ อย่างเราที่ไม่สามารถได้ยินเสียง ก็ใช้การสื่อสารผ่านโทรศัพท์ได้ด้วยการพิมพ์แทน มันทำให้ ทุกวันนี้โอกาสในการประกอบอาชีพของคนพิการมีมากขึ้น

อุปสรรคทางร่างกายไม่ใช่ตัวกำหนดชีวิต

การเป็นคนพิการอาจจะมีอุปสรรคมากกว่าคนอื่น แต่อย่าให้อุปสรรคนี้มาเป็นตัวกำหนดชีวิต เราเชื่อเสมอว่ายังมีคนอีกมากที่ยอมรับและให้โอกาสเรา เหมือนที่เราเองมีโอกาสในวันนี้ ซึ่งเราอยากให้ คนพิการได้มีพื้นที่ในการพิสูจน์ตัวเอง ก่อนที่จะถูกตัดสินว่าเขาทำอะไรได้หรือไม่ได้

ในมุมของคนที่ประกอบอาชีพขับรถส่งอาหาร นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สร้างโอกาส ทำให้เรามีอาชีพและอยู่ในสังคม ได้อย่างเท่าเทียม อยากให้ทุกแพลตฟอร์มมีพื้นที่นี้ให้กับคนพิการทุกคน

เรื่องราวจากคุณฐิตินันท์ อาจสร้างพลังบวกให้กับหลายคนที่ได้อ่านบทความนี้ และเป็นเครื่องการันตี ถึง ความสามารถของคนพิการที่ไม่ควรถูกตัดสินผ่านการมองจากภายนอกเพียงเท่านั้น เราจึงอยากให้บทความนี้เป็น อีกหนึ่งกระบอกเสียง ที่สำคัญให้กับเพื่อนๆ คนพิการทุกคน