หลังจากที่กลุ่มมิตรผลประกาศรับซื้อใบอ้อย และฟางข้าว สนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด งดการเผาแล้ว ก็ยังคงเดินหน้ารณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจต่อสังคมอย่างต่อเนื่องว่าโครงการนี้ได้ประโยชน์กับใครบ้าง โดยได้ที่หนึ่งคือได้งาน ได้อาชีพ ผู้รับเหมาหรือผู้รับจ้างในท้องถิ่นเกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากค่าอัดใบอ้อย ค่าคีบใบอ้อย ค่าขนส่งใบอ้อย รวมประมาณ 500 บาทต่อตัน ได้ที่สองคือได้เงินเพิ่ม ชาวไร่อ้อยได้เงินเพิ่มจากการขายใบอ้อย 1,000 บาทต่อตัน (ราคารับซื้อหน้าโรงงาน) ได้ที่สามคือได้กระตุ้นเศรษฐกิจ กำไรที่เหลือจากการขายใบอ้อยประมาณ 500 บาทต่อตัน เมื่อชาวไร่อ้อยนำมาจับจ่ายใช้สอย ก็จะเกิดเป็นรายได้หมุนเวียน 5 เท่า ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งและชุมชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และได้ที่สี่คือได้สิ่งแวดล้อมที่ดี ลดมลพิษ น้ำสะอาด ดินดี อากาศดี
ด้านคุณบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “ด้วยสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรของไทย ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้สภาวะอากาศแปรปรวน เกิดเป็นปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้ง กลุ่มมิตรผลตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายด้านความยั่งยืน เห็นได้จากการส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยเปลี่ยนมาทำเกษตรสมัยใหม่แบบ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” ที่เน้นการนำเครื่องจักรกลการเกษตร และการบริหารจัดการสมัยใหม่เข้ามาใช้มาเป็นเวลากว่า 10 ปี ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการเผาอ้อยได้อย่างยั่งยืน การรณรงค์ส่งเสริมให้ความรู้กับสังคมในครั้งนี้ เพราะเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังในภาคอุตสาหกรรมเกษตรของไทยที่จะสามารถแข่งขันและก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน เราไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นเพียงแค่กระแสและจบลงในระยะเวลาอันสั้น จึงอยากเห็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะมาช่วยกันสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม”
สำหรับสถานการณ์การรับซื้อใบอ้อยตั้งแต่เริ่มเปิดหีบในเดือนธันวาคม 2562 โรงงานน้ำตาลกลุ่มมิตรผล ในจังหวัดสุพรรณบุรี สิงห์บุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ เลย และอำนาจเจริญ รับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่อ้อยไปแล้วกว่า 100,000 ตัน โดยมีเป้าหมายจะรับซื้อ 200,000 ตันในฤดูการผลิตประจำปี 2562/2563